Tone, Theobald Wolfe (1763–1798)

นายเทโอบัลด์ วูล์ฟ โทน (พ.ศ. ๒๓๐๖–๒๓๔๑)

 เทโอบัลด์ วูล์ฟ โทน เป็นนักปฏิวัติชาตินิยมและนักต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์ซึ่งดำเนินการโค่นล้มการปกครองไอร์แลนด์ของอังกฤษ เขาใช้วิธีการสร้างความร่วมมือในหมู่ชาวไอริชที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายแตกต่างกันโดยจัดตั้งสมาคมรวมชาวไอริช (Society of United Irishmen) ขึ้น และระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* เขาชักนำกองกำลังฝรั่งเศสมาที่ไอร์แลนด์เพื่อช่วยชาวไอริชต่อสู้กับกองทหารอังกฤษในช่วงการกบฏ ค.ศ. ๑๗๙๘ เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานแนวคิดสาธารณรัฐนิยมแห่งไอร์แลนด์

 เทโอบัลด์ วูล์ฟ โทน หรือที่รู้จักกันในชื่อ วูล์ฟ โทน เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๓ ที่กรุงดับลิน (Dublin) ในครอบครัวช่างทำรถม้าที่นับถือนิกายไอร์แลนด์ (Church of Ireland) บิดาชื่อปีเตอร์ โทน (Peter Tone) มีไร่อยู่ใกล้หมู่บ้านซัลลินส์ (Sallins) ในเคาน์ตีกิลแดร์ (Gildare) มารดาชื่อมาร์กาเรต (Margaret) เป็นบุตรสาวของพ่อค้าที่ทำการค้ากับเวสต์อินดีส (West Indies) หลังเรียนจบจากวิทยาลัยทรินิตี (Trinity) หรือมหาวิทยาลัยดับลิน (University of Dublin) ซึ่งรับผู้เข้าศึกษาเฉพาะผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ใน ค.ศ. ๑๗๘๕ แล้ว เขาได้ศึกษาต่อวิชากฎหมายที่กรุงลอนดอนอีก ๒ ปี หลังจากนั้นก็เข้าสู่ทำเนียบทนายความแห่งกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๗๘๙ แต่ไม่นานก็เลิกอาชีพนักกฎหมายและหันไปทำงานทางด้านการเมืองเพื่อต่อสู้ให้ไอร์แลนด์แยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษ เพราะไอร์แลนด์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาอย่างยาวนาน ชาวไอริชซึ่งส่วนใหญ่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมีประสบการณ์ที่ขมขื่นกับการตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษทั้งในเรื่องการเสียภาษีศาสนา (tithe) เพื่อบำรุงนิกายไอร์แลนด์ซึ่งก็คือนิกายอังกฤษนั่นเอง และการถูกตัดสิทธิในการเข้าไปนั่งในรัฐสภา การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่ง ตลอดจนการซื้อที่ดินซึ่งทำให้ชาวไอริชต้องอยู่ในฐานะผู้เช่าที่จากเจ้าของไร่ชาวอังกฤษซึ่งมักไม่ได้พักอาศัยอยู่ในไอร์แลนด์

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ โทนจึงร่วมมือกับเจมส์ แนปเปอร์ แทนดี (James Napper Tandy) ทอมัส รัสเซลล์ (Thomas Russell) และคนอื่น ๆ จัดตั้งสมาคมรวมชาวไอริชขึ้นที่นครเบลฟัสต์ (Belfast) แม้เป็นองค์กรของผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์เป็นส่วนใหญ่แต่สมาคมนี้ก็ต้องการความร่วมมือทางการเมืองจากชาวไอริชทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ ที่ไม่ใช่นิกายไอร์แลนด์ เพื่อปฏิรูประบบรัฐสภา เช่น การให้สิทธิเลือกตั้งแก่ทุกคนโดยไม่เอาประเด็นศาสนามาเป็นเครื่องกีดกัน ในช่วงแรกสมาคมเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูประบบรัฐสภาในกรอบของประชาธิปไตย แต่ต่อมาได้แรงบันดาลใจจากการบริหารประเทศของสหรัฐอเมริกาหลังการปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. ๑๗๗๖ และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* อีกทั้งยังหมดความอดทนกับการที่ชนชั้นขุนนางไอริชต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สมาชิกสมาคมรวมชาวไอริชจึงต้องการนำยุทธวิธีของพวกปฏิวัติฝรั่งเศสมาใช้และเริ่มมีแนวคิดในการจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ โทนเองนั้นชื่นชมทอมัส เพน (Thomas Paine)* ชาวอังกฤษที่สนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งแต่งเรื่อง The Rights of Man เพื่อตอบโต้เอดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)* ผู้แต่ง Reflections on the Revolution in France และชอร์ช ชาก ด็องตง (Georges Jacgues Danton)* นักปฏิวัติฝรั่งเศสคนสำคัญที่เสนอให้สำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* ในย่อหน้าแรกของคำประกาศของกลุ่มรวมชาวไอริช (Declaration of the United Irishmen) จึงปรากฏแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ (rights of man) และสามัญสำนึก (common sense) ที่เป็นชื่อผลงานชิ้นสำคัญของเพนด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ โทนจัดประชุมผู้แทนชาวไอริช คาทอลิก ๑๑ คน ที่กรุงดับลิน ซึ่งสามารถกดดันให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติบรรเทาทุกข์ชาวคาทอลิก ค.ศ. ๑๗๙๓ (Catholic Relief Act of 1793) สำเร็จโดยอนุญาตให้ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกออกเสียงเลือกตั้งได้ แต่ยังไม่มีสิทธิเข้านั่งในสภาหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันที่จริง โทนเองนั้นไม่เห็นความสำคัญของการยึดมั่นในความเชื่อและหวังจะเห็นการลุกฮือต่อต้านศาสนานิกายต่าง ๆ ในไอร์แลนด์ตามมาเมื่อไอร์แลนด์เป็นอิสระจากอังกฤษแล้ว แต่ในชั้นแรกโทนและเพื่อนร่วมงานต้องการให้สมาคมรวมชาวไอริชทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชาวโปรเตสแตนต์นอกกระแสหลักโดยเฉพาะในเขตอัลสเตอร์ (Ulster) กับชาวไอริชคาทอลิกซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ไปก่อน และเมื่อเขาสังเกตเห็นความไม่พอใจอังกฤษของชาวไอริชคาทอลิกในเรื่องศาสนา การครองชีพ และสภาพสังคมโทนก็สรุปกับตนเองว่าเพียงพอที่จะเป็นเชื้อไฟสำหรับการปฏิวัติ เขาจึงเรียกร้องการแยกไอร์แลนด์ออกจากอังกฤษอย่างเด็ดขาด

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ แกนนำสมาคมรวมชาวไอริชเห็นพ้องกันว่าไม่มีพรรคการเมืองใดในรัฐสภาไอร์แลนด์ที่จะบันดาลการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ทุกคนและการแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีขนาดเท่ากัน พวกเขาจึงคิดว่าการชักจูงให้ฝรั่งเศสมาบุกไอร์แลนด์อาจเป็นทางออกได้โทนและพรรคพวกจึงหันหาความช่วยเหลือด้านอาวุธจากรัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อโค่นล้มการปกครองของอังกฤษ หลังจากความพยายามขั้นต้นล้มเหลว เขาถูกบีบบังคับให้ออกจากไอร์แลนด์ โทนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๕ และอาศัยในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) จนถึงต้น ค.ศ. ๑๗๙๖ ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้รับจดหมายแนะนำตัวเขาที่ออกโดยผู้แทนฝรั่งเศสประจำนครฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เพื่อให้นำไปยื่นต่อคณะกรรมาธิการเพื่อสวัสดิภาพแห่งสาธารณชน (Committee of Public Safety) ที่กรุงปารีส

 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๖ เขาเดินทางถึงกรุงปารีสและเสนอแผนการบุกไอร์แลนด์ต่อฝรั่งเศสว่าจะมีการลุกฮือของชาวไอริชอันเป็นการปฏิวัติต่ออังกฤษตามหลังการบุกไอร์แลนด์ของฝรั่งเศสแผนการนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี คณะกรรมการอำนวยการ (Directory)* ซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศฝรั่งเศสขณะนั้นแต่งตั้งนายพลลุย ลาซาร์ โอช (Louis Lazare Hoche) นายพลหนุ่มที่ได้รับการยอมรับในความปราดเปรื่องมากที่สุดคนหนึ่งให้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่จะออกไปปฏิบัติการนอกประเทศครั้งนี้และให้โทนมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ (adjutant-general) ประจำกองทัพฝรั่งเศสซึ่งทำให้โทนเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเขาจากโทษเป็นกบฏต่ออังกฤษได้หากถูกฝ่ายอังกฤษจับตัว

 ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ โทนออกจากเมืองแบรสต์ (Brest) ในเขตบริตตานี (Brittany) ซึ่งเป็นท่าเรือและเมืองท่าทางทหารสำคัญเป็นที่ ๒ ของฝรั่งเศสรองจากเมืองตูลง (Toulon) พร้อมกองเรือฝรั่งเศส ๔๓ ลำ ซึ่งบรรทุกยุทธภัณฑ์ที่จะแจกจ่ายให้แก่ชาวไอริช โดยมีกำลังทหารเกือบ ๑๔,๐๐๐ คน เมื่อถึงชายฝั่งตอนใต้ของไอร์แลนด์ในเขตเคาน์ตีคอร์ก (Cork) และเคาน์ตีเคอร์รี (Kerry) ขบวนเรือถูกพายุลูกเห็บพัดประกอบกับการควบคุมขบวนเรือทำได้ไม่ดีทำให้กองเรือแตกขบวน เรือฝรั่งเศสต้องเข้าไปหลบพายุที่อ่าวแบนทรี (Bantry) ในเขตเคาน์ตีคอร์กอยู่หลายวันเพื่อรอเวลาให้ลมสงบ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ยกพลขึ้นฝั่งและแล่นกลับไปยังฝรั่งเศส โทนเองก็กลับไปประจำการในกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลโอชซึ่งได้เป็นเสนาบดีว่าการสงครามหลังจากมีชัยชนะต่อกองทัพออสเตรียในยุทธการที่นอยวีด (Neuwied) บนฝั่งขวาของแม่น้ำไรน์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๗ ต่อมา ในเดือนตุลาคมโทนเสนอแผนการบุกไอร์แลนด์ต่อรัฐบาลฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่นายพลนโปเลียนโบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ผู้นำหลักทางทหารของฝรั่งเศสแทบไม่ให้ความสนใจ และนายพลโอชที่เคยนำกองกำลังฝรั่งเศสไปไอร์แลนด์ครั้งก่อนก็เสียชีวิตแล้วด้วยวัณโรคในเดือนกันยายนปีเดียวกัน หลังจากกลับไปปฏิบัติภารกิจที่พรมแดนฝรั่งเศสบริเวณแม่น้ำไรน์

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ เมื่อเกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ขึ้นในไอร์แลนด์ในเดือนพฤษภาคมนั้น นายพลโบนาปาร์ตก็ออกเดินทางมุ่งสู่ภารกิจที่อียิปต์แล้ว การร้องขอความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการอำนวยการทำให้โทนมีจำนวนกำลังฝรั่งเศสเพียงพอสำหรับการบุกจู่โจมเล็ก ๆ ตามจุดต่าง ๆ ของชายฝั่งไอร์แลนด์เท่านั้น กำลังส่วนหนึ่งที่มีนายพลอุมแบร์ (Humbert) บัญชาการสามารถยกพลขึ้นที่คิลลาลา (Killala) เคาน์ตีมาโย (Mayo) แต่ไม่นานต่อมาก็ถูกชาลส์ คอร์นวอลลิส มาร์ควิสคอร์นวอลลิสที่ ๑ (Charles Cornwallis, 1ˢᵗ Marquis Cornwallis) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอังกฤษในไอร์แลนด์ปราบปราม แมททิว (Matthew) น้องชายของโทนถูกจับกุม เขาถูกนำตัวขึ้นศาลทหารและถูกตัดสินแขวนคอ หน่วยจู่โจมที่ ๒ ของฝรั่งเศสที่มีแนปเปอร์ แทนดี ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมรวมชาวไอริชกับโทนรวมอยู่ด้วยก็ถูกอังกฤษตีพ่ายบริเวณชายฝั่งของเคาน์ตีดอนิกอล (Donegal) ส่วนโทนอยู่ในหน่วยจู่โจมที่ ๓ ซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๓,๐๐๐ คน มีนายพลเรือชอง-บัปตีสต์-ฟรองซัว บงปาร์ (Jean Baptiste-François Bompart) บัญชาการ หน่วยนี้เผชิญกับกองร้อยอังกฤษที่เมืองบันครานา (Buncrana) ริมฝั่งอ่าวล็อกสวิลลี (Lough Swilly) ในเขตเคาน์ตี ดอนิกอลในวันที่ ๑๒ ตุลาคม โทนซึ่งอยู่บนเรือโอช (Hoche) ปฏิเสธข้อเสนอของนายพลบงปาร์ให้หลบหนีลงเรือรบลาบิช (La Biche) ก่อนจะเกิดยุทธนาวีที่เกาะทอรี (Battle of Tory Island) ซึ่งเป็นสมรภูมิสุดท้ายของเหตุการณ์ลุกฮือ ค.ศ. ๑๗๙๘ เขาจึงถูกจับกุมเมื่อเรือโอชต้องยอมจำนนต่ออังกฤษ ทหารฝรั่งเศสที่ถูกอังกฤษจับกุมถูกส่งกลับฝรั่งเศสหมดในเวลาต่อมาเพื่อแลกกับเชลยชาวอังกฤษ ต่างกับชาวไอริชที่มีส่วนในการลุกฮือต้องถูกประหารหมดหลังถูกจับกุมประมาณกันว่าชาวไอริช จำนวน ๓๐,๐๐๐ คน ถูกสังหารจากเหตุการณ์ช่วงฤดูร้อนปีนั้น หลายคนเป็นชาวนาซึ่งมีเพียงคราดกวาดฟางเป็นอาวุธสู้กับปืนใหญ่ของฝ่ายอังกฤษ และจำนวนไม่น้อยเป็นผู้หญิง

 ในส่วนของโทน เมื่อนักโทษถูกนำตัวขึ้นฝั่งใน ๑๕ วันต่อมา เซอร์จอร์จ ฮิลล์ (George Hill) สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์จำโทนซึ่งอยู่ในเครื่องแบบทหารฝรั่งเศสได้ ศาลทหารที่กรุงดับลินไต่สวนเขาในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๘ โทนยังคงกล่าวยืนยันความรู้สึกเป็นศัตรูต่ออังกฤษและความต้องการแยกประเทศให้เป็นอิสระต่อกัน ความแน่ใจที่ว่าศาลต้องตัดสินความผิดของเขา โทนจึงร้องขอศาลให้ลงโทษประหารเขาอย่างทหารด้วยการยิง ศาลจึงให้ส่งคำร้องของโทนไปยังข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำไอร์แลนด์พิจารณา โทนเชื่อว่าโอกาสของเขาริบหรี่มากและในที่สุดคำร้องของเขาก็ถูกลอร์ดคอร์นวอลลิสปฏิเสธโทนเขียนหนังสือถึงคณะกรรมการอำนวยการในฝรั่งเศสเพื่อฝากฝังบุตรและภรรยา และเขียนร่ำลาพร้อมทั้งปฏิเสธบิดาของเขาที่ประสงค์จะเข้าเยี่ยม

 ในเช้าตรู่ของวันที่กำหนดลงโทษประหารด้วยการแขวนคอในฐานะผู้กระทำผิดข้อหาเป็นกบฏ โทนก็ใช้มีดพกเชือดคอตนเองในที่คุมขังของเรือนจำ โพรโวสต์ (Provost’s Prison) กรุงดับลิน เขาเสียชีวิต ๗ วันต่อมาในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๘ ขณะอายุ ๓๕ ปี แม้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเขาสังหารตนเองแต่ก็ยังมีผู้คลางแคลงใจในเรื่องนี้อยู่ ร่างของเขาได้รับการฝังที่โบเดนส์ทาวน์ (Bodenstown) เคาน์ตีกิลแดร์ ปัจจุบันหลุมฝังศพของเขาอยู่ในความดูแลของสมาคมสุสานแห่งชาติ (National Graves Association) และในเดือนมิถุนายนของทุกปีจะมีกลุ่มชาวไอริชที่นิยมระบอบสาธารณรัฐไปประกอบพิธีรำลึกถึงเขาที่หลุมฝังศพแห่งนี้

 ในด้านชีวิตส่วนตัว โทนมีภรรยาชื่อ มาทิลดา แฟนนิง (Matilda Fanning) หลานสาวนักบวชที่มั่งคั่งทั้งคู่หนีไปแต่งงานกัน ขณะที่เขามีอายุ ๒๒ ปี และเธออายุ ๑๖ ปี ต่อมามีบุตรด้วยกัน ๔ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ มาเรีย (Maria) ถึงแก่กรรมด้วยวัณโรคใน ค.ศ. ๑๘๐๓ คนที่ ๒ เป็นชายชื่อ ริชาร์ด (Richard) เสียชีวิตขณะยังเป็นทารก คนที่ ๓ ชื่อ วิลเลียม คนที่ ๔ ชื่อ ฟรานซิส (Francis) ซึ่งเสียชีวิตจากวัณโรคเช่นกัน ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ บันทึกของโทนที่เขียนสำหรับครอบครัวและเพื่อนสนิทของเขาได้จัดพิมพ์ขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตโดยวิลเลียม เทโอบัลด์ วูล์ฟ โทน (William The obald Wolfe Tone) บุตรชายคนที่ ๓ ซึ่งมารดาเลี้ยงดูเขาในฝรั่งเศสหลังบิดาเสียชีวิตโดยอาศัยเบี้ยยังชีพที่สภาห้าร้อยของฝรั่งเศสจัดหาให้ตามการจัดการของลูเซียง โบนาปาร์ต (Lucien Bonaparte) น้องชายของนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ตซึ่งเป็นประธานสภาห้าร้อยอยู่ เขาได้เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในวิทยาลัยทหารม้าแห่งจักรวรรดิ (Imperial School of Cavalry) ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ ด้วยพระเมตตาและการจัดการของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* และ ๒ ปีต่อมาเขาก็ได้รับสัญชาติฝรั่งเศส ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๑๓ วิลเลียม โทนได้รับยศว่าที่ร้อยตรี (sublieutenant) ประจำกองทหารม้าที่ ๘ และถูกส่งไปรบอยู่ในกองทัพใหญ่ในเขตรัฐเยอรมันจากการรบในยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (Battle of Leipzig) วิลเลียม โทนได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นได้รับเหรียญกล้าหาญและได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทอยู่ในฝ่ายทหารรักษาพระองค์

 หลังยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งเป็นการปราชัยครั้งสุดท้ายของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ วิลเลียม โทนอพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและได้เป็นร้อยเอกในกองทัพสหรัฐอเมริกา เขาเสียชีวิตด้วยวัณโรคที่นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๘ ด้วยวัย ๓๗ ปี เช่นเดียวกับมาทิลดา มารดาของเขาก็อพยพไปสหรัฐอเมริกาและเสียชีวิตที่นั่น ศพของเธอฝังอยู่ที่สุสานกรีนวูด (Greenwood) ในเขตบรุกลิน (Brooklyn) ของนครนิวยอร์ก.



คำตั้ง
Tone, Theobald Wolfe
คำเทียบ
นายเทโอบัลด์ วูล์ฟ โทน
คำสำคัญ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- โทน, เทโอบัลด์ วูล์ฟ
- นโปเลียนที่ ๑
- เบิร์ก, เอดมันด์
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- เพน, ทอมัส
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ยุทธนาวีที่เกาะทอรี
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1763–1798
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๖–๒๓๔๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-